สุดยอดภูมิปัญญาไทย
ใช้ 'ยอยักษ์' เช็คอาหารกุ้งขาว
ในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ปัญหาสำคัญที่สุด นั่นก็คือ การเช็คยอเพื่อปรับอาหาร
บางคนประสบปัญหาเช็คยอไม่ได้เลย บางคนก็เช็คยอได้แต่เช็คอาหารพลาดไปเป็นตันๆ
คุณสมคิด ศรีพารัตน์ ฟาร์มตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ก็ประสบปัญหาเช็คยอปรับอาหารพลาดไปเป็นตันๆ
เช่นกัน ซึ่งจากการทดลองด้วยตนเองพบว่าจริงๆ แล้วกุ้งไม่ได้กินอาหารในยอหมด แต่กุ้งดีดอาหารหลุดออกจากยอไป
คุณสมคิดจึงได้คิดค้นประดิษฐ์ยอยักษ์ขึ้นมา ปรากฏว่าตลอด 3 ปีที่ใช้ยอยักษ์ เช็คอาหารกุ้งขาวไม่เคยพลาดเลย
เอฟซีอาร์อยู่ที่ 1.1-1.2 เท่านั้น
จุลินทรีย์บำบัดเลน
ในการเตรียมบ่อ หลังจากจับกุ้งเสร็จแล้ว คุณสมคิดจะตากบ่อไว้จนเลนขี้กุ้งกลางบ่อแห้งสนิท
แล้วนำจุลินทรีย์ที่หมักเตรียมไว้มาสาดบริเวณกองเลนให้ทั่ว สำหรับสูตรการหมักจุลินทรีย์ก็จะมีหัวเชื้อจุลินทรีย์
1 ลิตร อีเอ็ม 1 ลิตร กากน้ำตาล 2 กก. และน้ำ 20 ลิตร นำมาหมักรวมกันไว้ประมาณ
3 วัน ก็นำมาใช้ได้ อัตราการใช้ 1 ถัง/บ่อ หลังจากสาดจุลินทรีย์แล้ว ก็สูบน้ำจืดจากบ่อพักน้ำเข้าบ่อเลี้ยงมาก่อนประมาณ
60 ซม. แล้วนำน้ำเค็มมาลง ปรับความเค็มให้อยู่ที่ประมาณ 4-5 พีพีที เสร็จแล้วก็จะเริ่มทำสีน้ำโดยจะหมักจุลินทรีย์สูตรเดียวกับที่ใช้สาดบนแนวเลน
แต่จะเติมรำละเอียดลงไปหมักด้วยประมาณ 30 กก. หมักไว้ 3 วัน ก็นำมาสาดให้ทั่วบ่อ
แล้วตีน้ำไปอีกประมาณ 3-4 วัน สัตว์หน้าดิน เช่น หนอนแดง ก็จะเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
เมื่อสีน้ำพร้อมแล้วก็นำลูกกุ้งขาวมาปล่อย ในอัตรา 100,000 ตัว/ไร่ การปล่อยใช้วิธีลอยถุงปรับอุณหภูมิประมาณ
20 นาที
"ผมใช้สูตรรำหมักกับจุลินทรีย์ในการสร้างอาหารธรรมชาติมา 3 ปีแล้ว ผมสร้างอาหารธรรมชาติได้เป็นจำนวนมากทุกรอบ
โดยที่ไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดมาใช้เลย ทำใช้เองจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก
นอกจากนี้ในระหว่างการเลี้ยง ผมจะหมักจุลินทรีย์สูตรเดิมมาสาดหน้าใบพัด ในอัตรา
1 ลิตร/ไร่ ใช้ทุกๆ 10 วัน ตลอดการเลี้ยง เพื่อบำบัดของเสียที่พื้นบ่อ และช่วยคุมพีเอชให้นิ่งตลอดการเลี้ยงอีกด้วย"
ให้อาหาร 2 มื้อ ตลอดการเลี้ยง
สำหรับการให้อาหาร คุณสมคิด บอกว่า หลังจากปล่อยกุ้งไปแล้วจะให้กุ้งกินสัตว์หน้าดินไปก่อนประมาณ
3 วัน จากนั้นวันที่ 4 จึงจะเริ่มให้อาหารในอัตรากุ้ง 1 แสนตัว/อาหาร 1 กก./วัน
โดยจะให้อาหารวันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าประมาณ 7.00-7.30 น. ส่วนมื้อเย็น 16.00-17.00
น. ตลอดการเลี้ยง ทั้งนี้ในช่วงแรกจะให้อาหารในอัตรากุ้ง 1 แสนตัว/อาหาร 1 กก./วัน
ไปจนกระทั่งกุ้งมีอายุประมาณ 20 วัน ก็จะสามารถเช็คยอได้ โดยปกติจะเริ่มลงยอเมื่อกุ้งมีอายุประมาณ
18 วัน แล้วนำอาหารมาใส่ยอเพื่อให้กุ้งคุ้นเคยกับอาหารในยอไปก่อน จากนั้นวันที่
20 จึงจะเริ่มมีการเช็คยอเพื่อปรับอาหาร
ยอยักษ์เช็คอาหารไม่เคยพลาด
คุณสมคิด บอกว่า ในการเช็คยอปรับอาหารกุ้งขาว เมื่อก่อนเคยใช้ยอขนาดปกติที่ซื้อตามร้านค้า
เมื่อนำมาเช็คอาหารแล้วปรากฏว่าให้อาหารผิดไปเป็นตันๆ เหตุเพราะเมื่อเช็คยอแล้วอาหารหมด
ก็คิดว่ากุ้งกินอาหารดี จึงเพิ่มอาหารให้ไปอีก แต่ความจริงแล้วกุ้งไม่ได้กิน
เนื่องจากเมื่อทำการทดลองวางยอไว้บริเวณน้ำตื้น เพื่อสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของกุ้ง
พบว่ากุ้งที่กินอาหารอยู่ในยอจะค่อนข้างหวงอาหาร เวลามีกุ้งตัวอื่นเข้ามา เขาจะดีดตัวเพื่อไล่กุ้งที่จะเข้ามาออกไป
ทำให้อาหารถูกดีดหลุดออกจากยอไปด้วย หากคนเลี้ยงไม่รู้ก็คิดว่ากุ้งกินอาหารหมด
ก็ไปเพิ่มอาหารให้อีก จึงทำให้อาหารเวอร์ไปมาก เพราะฉะนั้นจึงได้คิดค้นสร้างยอยักษ์ขึ้นมา
เป็นยอที่มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร สูง 10 ซม. ทำให้ยอมีพื้นที่มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งดีดอาหารหลุดออกไปได้
"ตอนแรกผมทำยอยักษ์ขึ้นมาทดลองใช้ดู 1 ยอก่อน โดยนำยอยักษ์ไปวางแทนยอเล็ก
1 ยอ ส่วนยอเล็กก็วางไปตามปกติ 3 ยอ เมื่อทำการเช็คยอ ปรากฏว่าอาหารในยอเล็กหมดไปแล้ว
แต่ในยอยักษ์ยังไม่หมด ตอนแรกก็คิดว่าบริเวณที่วางยอยักษ์กุ้งคงกินอาหารไม่ดี
จึงย้ายยอยักษ์ไปวางบริเวณยอเล็ก ผลการเช็คยอก็ยังเหมือนเดิม คือ ยอเล็กอาหารหมดไปแล้ว
ส่วนยอยักษ์ยังไม่หมด นั่นก็แสดงว่าใช้ยอเล็กเช็คอาหารมีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะกุ้งดีดอาหารออกไปได้
แต่ยอยักษ์ซึ่งเป็นยอที่มีพื้นที่กว้าง อาหารก็เลยไม่ถูกดีดหลุดออกไป หรือออกไปได้น้อยมาก
การเช็คยอจึงมีความแม่นยำกว่า"
วางยอยักษ์ 2 ยอ/บ่อ
คุณสมคิด บอกว่า ในการวางยอ โดยปกติถ้ายอเล็กจะต้องวาง 4 ยอ/บ่อ แต่ถ้าเป็นยอยักษ์จะวางแค่
2 ยอ/บ่อ คือ วางบริเวณน้ำลึกกับน้ำตื้นก็เพียงพอแล้ว สำหรับอัตราการเช็คยอ ช่วงแรกจะใช้
5 กรัม/อาหาร 1 กก. พอกุ้งมีอายุ 2 เดือนไปแล้ว จะเปลี่ยนมาเช็คที่ 6 กรัม/อาหาร
1 กก. ไปจนกระทั่งจับ ส่วนเวลาการเช็คยอจะเช็คที่ 5 ชั่วโมง ตลอดการเลี้ยง ในการอ่านผลการเช็คยอ
ในช่วงเดือนแรกถ้าเช็คยอหมดจะเพิ่มอาหาร 0.5 กก./กุ้ง 1 แสนตัว/มื้อ จากนั้นเมื่อกุ้งมีอายุ
2 เดือนไปแล้ว จะเพิ่มอาหาร 1 กก./กุ้ง 1 แสนตัว/มื้อ แต่ทั้งนี้การจะเพิ่มอาหารต้องเช็คยอหมดทั้ง
2 ยอ และหมดทั้งมื้อเช้าและมื้อเย็น จึงจะเพิ่มอาหารในวันถัดไป แต่ถ้าเช็คยอแล้วอาหารหมดแค่ยอเดียวหรือหมดแค่มื้อเดียวก็จะคงที่อาหารไว้
"ใช้ยอยักษ์สามารถเช็คอาหารได้แม่นกว่าใช้ยอเล็กเยอะ เอฟซีอาร์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ
1.1-1.2 เท่านั้น แต่บางบ่อถ้ากุ้งโตดี เอฟซีอาร์อยู่ที่ 0.9 ก็เคยมี โดยปกติผมจะเลี้ยงไม่เกิน
100 วันก็จะจับแล้ว เพราะหากเลี้ยงนานกว่านี้ต้นทุนจะสูง กุ้งขาวไซซ์ใหญ่ที่สุดที่เคยได้อยู่ที่
58 ตัว/กก. แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60-70 ตัว/กก. ซึ่งเลี้ยงในน้ำเค็มศูนย์ได้ไซซ์นี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว
ทั้งนี้ตั้งแต่ผมใช้ยอยักษ์เช็คอาหารกุ้งขาวมา 3 ปี ผมเช็คอาหารกุ้งขาวไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง"
เทคนิคการจัดการคุณภาพน้ำ
คุณสมคิด กล่าวว่า หลังจากกุ้งมีอายุ 70 วันไปแล้ว จะนำเกลือมาลงเพื่อเสริมแร่ธาตุให้กับกุ้งในอัตรา
1 ตัน/บ่อ และพอกุ้งมีอายุใกล้ๆ 3 เดือน ถ้าสีน้ำเข้มจัด ก็จะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วงวันโกน
โดยจะถ่ายน้ำออก 20 ซม. แล้วเติมน้ำเข้ามา 10 ซม.ก่อน จากนั้นเว้นช่วงไป 2-3
วัน แล้วจึงเติมเข้ามาอีก 10 ซม. ทั้งนี้เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็จะหยุดใช้จุลินทรีย์
สำหรับการเปิดปิดใบพัดตีน้ำ ในช่วงกลางวันจะไม่ตีน้ำ ส่วนใหญ่จะเปิดใบพัดตีน้ำช่วง
4-5 ทุ่ม ไปจนให้อาหารมื้อเช้า แต่ช่วงท้ายๆ ของการเลี้ยง จะลงสไปรอลหรือใบพัดขนเม่น
2 ตัว/บ่อ แล้วเร่งเครื่องตีน้ำให้แรงขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในบ่อ ส่วนช่วงฝนตกหนักๆ
ตอนกลางวัน ถ้าบ่อไหนกุ้งติดแน่นก็จะเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเคล้าน้ำ ตลอด 3 ปีที่เลี้ยงกุ้งขาวมาใช้เทคนิคการตีน้ำแบบนี้
ก็จับกุ้งได้บ่อละ 4-5 ตันเหมือนกัน
นอกจากนี้ คุณสมคิด บอกว่า การเลี้ยงกุ้งระบบความเค็มต่ำ หากเลี้ยงติดต่อกัน
2-3 ครอป ครอปถัดๆ ไปมักจะประสบปัญหากุ้งเลี้ยงไม่โต ดังนั้นหลังจากเลี้ยงกุ้งติดต่อกันแล้ว
3 ครอป จะหยุดการเลี้ยงกุ้งแล้วนำปลานิลมาลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้งทุกบ่อ เลี้ยงปลานาน
5 เดือน แล้วจับปลาขึ้นทั้งหมด จากนั้นทำการเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงกุ้งตามปกติ
ทดลองทำแบบนี้มา 3 ครั้งแล้ว ปรากฏว่าหลังจากนำปลามาลงเลี้ยงในบ่อกุ้งแล้ว กุ้งเลี้ยงง่ายและเจริญเติบโตดีขึ้นมาก
นสพ.กุ้งไทย ฉบับที่ 24 ปักษ์หลัง ประจำเดือนมิถุนายน 2547
เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ กุ้งไทย
นำเสนอขึ้นสู่เวบไซต์ โดย www.shrimpcenter.com
เอกอนันต์ ยุวเบญจพล
webmaster