หลากมุมมองของคนไม่ลงกุ้ง
สภาวะการผลิตกุ้งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เกษตรกรหลายพื้นที่ไม่กล้าลงกุ้งกัน
ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงและกลัวถึงสถานภาพทางด้านการตลาด ผู้ประกอบการของไทยจะไม่มีสินค้าส่งให้ประเทศผู้ซื้อ
ทำให้ไทยต้องเสียตลาดไปให้กับคู่แข่ง โดยสมาคมกุ้งไทยและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
ได้เดินสายจัดงานสัมมนา 4 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงปัญหาการฟ้องทุ่มตลาด
ทีมข่าว นสพ.กุ้งไทย จึงรวบรวมความคิดเห็นของเกษตรกรในหลายพื้นที่ถึงสาเหตุที่ไม่ลงกุ้งไว้
ดังนี้
คุณธนพล เจิ่งประภากร เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่
จ.ระยอง กล่าวว่า การไม่ลงกุ้ง บางคนบอกว่าลงไปแล้วและตายไปแล้ว
ลงใหม่ก็ยังกลัวๆ กล้าๆ ส่วนมากที่กลัวคือ กลัวเรื่องอากาศยังไม่นิ่ง ส่วนมากไม่กลัวเรื่องราคา
เพราะเรามีวิธีการที่ทำให้ต้นทุนต่ำ แต่ตอนนี้อากาศมันรุนแรงไปทำให้ควบคุมกุ้งไม่อยู่
คือ ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นปีมา เป็นความรุนแรงของอากาศที่ทำให้กุ้งน๊อค
เพราะกุ้งเครียด แต่มาในช่วงหลังอากาศมันเริ่มที่จะนิ่งแล้ว แต่ก็ยังแกว่งบ้างแต่ไม่มาก
เท่าที่ผ่านมาปลายปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้ อากาศมันแกว่งเกินไปในภาคตะวันออก บางวันมีถึง
3 ฤดู กลางวันร้อนจัด เช้าอากาศเย็น พอบ่ายฝนตก ซึ่งมันจะมีปัญหาในต้นปีที่ผ่านมา
ตรงนั้นทำให้กุ้งเครียดและน๊อคได้ ตอนนี้กลัวเรื่องอากาศร้อนเกินไป ตนจึงเริ่มดักทางด้วยการคลุมสแลน
ช่วยคลุมในบ่อให้มันร่มบ้าง
"แต่ถึงอย่างไรในฐานะที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง อย่างไรเราก็ต้องลงกุ้ง
เรื่องเลิกเลี้ยงคงเป็นไปไม่ได้ แต่ขอเวลาดูสถานการณ์ก่อนว่า มันเป็นเพระโรค
หรืออากาศหรืออะไรกันแน่ เราจะได้รับมือถูก"
คุณจงกล ผลวงษ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี
กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ลงกุ้งในช่วงนี้ว่า จากเดิมที่เคยเลี้ยงกุ้งอยู่ประมาณ
14-15 บ่อ เน้นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นหลัก ปัจจุบันนี้ยังไม่ลงกุ้ง สาเหตุที่ไม่ลงกุ้งเพราะยังไม่แน่ใจเรื่องฤดูกาล
ปีนี้อากาศมีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป อากาศร้อนเกินไป และน้ำมีความเค็มสูง และคาดการณ์กันว่า
ปีนี้อากาศหนาวนานก็น่าจะร้อนนาน แต่คิดว่ากลางเดือนพฤษภาคมไปแล้วฝนก็น่าจะมีมาบ้างแล้ว
ส่วนเรื่องเอดีที่เป็นสาเหตุให้ไม่ลงกุ้งนั้น ตนไม่เคยคิด ธรรมดาจะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
เน้นปล่อยกุ้งบาง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมบ่อปรังปรุงพื้นบ่อ
คุณจงกล แสดงความคิดเห็นว่า "การเลี้ยงกุ้งครอปต่อไปที่จะลงเป็นกุ้งกุลาดำแน่นอน
กุ้งขาวคงไม่เลี้ยงเพราะว่า ไม่แน่ใจในเรื่องแม่พันธุ์และกลัวโรคระบาด คราวที่แล้วปล่อยไปได้ประมาณเดือนกว่า
ปรากฏว่ากุ้งเป็นโรคตายหมด โดยไม่ทราบสาเหตุของโรคว่ามาจากสาเหตุอะไร ตอนนี้ผมพักบ่อมาเกือบ
3 เดือนแล้ว คิดว่าต้นเดือนพฤษภาคมคงจะลงกุ้งครอปต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องราคาไม่เป็นผล
ผมไม่กังวลเท่าไร กลัวเรื่องอากาศมากกว่า"
คุณศิริรัตน์ ทวีทรัพย์พิทักษ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่
กระแจะ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตนมีบ่อเลี้ยงกุ้งอยู่ประมาณ
10 กว่าบ่อ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เลี้ยง พักบ่อมาประมาณ 4 เดือนแล้ว นอกจากนี้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงก็พักบ่อเหมือนกัน
คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประมาณ 90% จากเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ เกษตรกรส่วนมากยังชั่งใจกันอยู่ว่าจะลงหรือไม่ลง
สำหรับสาเหตุที่ไม่ลงกุ้ง คุณศิริลักษณ์ ตอบว่า "มาจากภาวะที่ไม่แน่นอนทั้งด้านการตลาด
การเลี้ยงที่เป็นไปอย่างยากลำบาก โอกาสรอดน้อย เพราะฤดูกาลแปรปรวน และราคาก็ยังไม่ดีอีก
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่ไม่ลงกุ้งมาจาก การเลี้ยงมีความเสี่ยงสูง น้ำเค็มจัด อากาศร้อนจัด
ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่ผ่านมา ก็ยังคงลงกุ้งกันแต่มาปีนี้ความเสี่ยงสูง
เกษตรกรจึงยังไม่ลงกัน แต่คิดว่าถ้าไม่มีปัญหาอะไรนอกเหนือจากนี้ ประมาณปลายเดือนเมษายน
ก็ว่าจะปล่อยกุ้งกุลาดำแน่นอน"
อ.ประคอง จันทรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
ก็เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกท่านหนึ่งที่ยังไม่ลงกุ้งในช่วงนี้ ซึ่งอ.ประคอง
บอกกับทีมงาน นสพ.กุ้งไทยว่า นอกจากตนแล้วยังมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกหลายคนที่ยังไม่ลงกุ้งเช่นนั้น
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องของราคา และเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งต้องหยุดเลี้ยงอย่างถาวร
เพราะไม่มีทุน นอกจากนี้ในเรื่องของคุณภาพลูกกุ้งทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งขาวก็ยังไม่มีความแน่นอน
ตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่กล้าลงกุ้ง เนื่องจากกลัวว่าเลี้ยงไม่รอดขาดทุนอีก
และสุดท้ายปัญหาสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงกุ้งในช่วงนี้ ก็คือ เรื่องสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัด
ทำให้น้ำมีความเค็มสูงถึง 40 พีพีที ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคเรืองแสงไปทั่ว
"สำหรับผมแล้วเหตุที่ยังไม่ลงกุ้งในช่วงนี้ก็เพราะ ผมมองว่าคุณภาพลูกกุ้งในบ้านเรายังไม่นิ่ง
และช่วงนี้อากาศก็ร้อนจัด ทำให้น้ำมีความเค็มสูงมาก ผมกลัวในเรื่องของโรคเรืองแรง
อีกทั้งราคากุ้งก็ยังไม่มีความแน่นอน ผมคิดว่าจะรออีกสัก 1 เดือนให้ราคามีความชัดเจนขึ้นก่อนถึงจะลงกุ้ง"
คุณนันทาศักดิ์ หงษ์กิตติยานนท์
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรในพื้นที่
จ.ปัตตานี ทยอยลงกุ้งกันเรื่อยๆ เป็นกุ้งกุลาดำ 60% กุ้งขาว
40% ซึ่งจังหวัดปัตตานีก็เหมือนพื้นที่อื่นที่เจอกับปัญหาน้ำความเค็มสูงเช่นกัน
แต่ด้วยความที่สมาชิกของชมรมมีการพบปะพูดคุยกันอยู่ตลอดเสมอๆ ทำให้เกษตรกรไม่กลัว
เพราะคิดว่ามีแนวทางจัดการกับปัญหาได้ แนวทางที่ทำกันอยู่ตอนนี้ก็คือ การปล่อยกุ้งให้บางลง
มีการเตรียมบ่อที่เข้มข้นมากขึ้น และมีการจัดการน้ำที่ดี
"สำหรับเรื่องเอดีก็เป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจนิดหน่อย แต่คิดว่าถ้าเราโดนภาษีจริง
ก็ไม่น่าจะเยอะกว่าประเทศคู่แข่ง เอดีจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสักเท่าไหร่
และด้วยความที่เราพักบ่อกันมานานแล้ว ตอนนี้ก็เลยตัดสินใจทยอยลงกุ้งกัน แต่ก็มีเกษตรกรรายย่อยๆ
ที่ล้มหายตายจากเลิกเลี้ยงกันไปบ้าง ประมาณ 10% เพราะขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้งขาวรอบที่ผ่านมา
ส่วนอีก 90% ที่เหลือ คาดว่าตอนนี้ก็ทยอยปล่อยกุ้งกันไปแล้วประมาณ 60%"
คุณสุรศักดิ์ สุเชาว์อินทร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่
อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้ตนลงกุ้งกุลาดำมาได้ประมาณ 20 วันแล้ว
เกษตรกรในอ.บ้านแพ้วก็ทยอยลงกุ้งกันแล้ว และส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% จะลงกุ้งกุลาดำกัน
แต่ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังมีความกลัวเรื่องราคาอยู่ เนื่องจากเกรงว่าถ้ากุ้งออกมาพร้อมกันในปริมาณมาก
ก็จะทำให้ราคาตกลงอีก นอกจากนี้ก็ยังมีความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงด้วย เพราะการเลี้ยงกุ้งยากขึ้นทุกวัน
ซึ่งเกิดจากปัญหาโรคระบาด และกุ้งเลี้ยงไม่โตแคระแกร็น เป็นต้น
"สำหรับเรื่องเอดี โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเอดีไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวสักเท่าไหร่
เพราะคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีทางแก้ไขได้ และอีกประกาศหนึ่งประเทศคู่แข่งที่ถูกฟ้อง
เขาน่าจะโดนภาษีมากกว่าเรา ปัญหาเขาน่าจะหนักกว่า ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสทางการตลาดมากกว่า
เพราะฉะนั้นในเรื่องของเอดีไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงกุ้งของเรา"
คุณประภัส ทรัพย์แสง
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน อ.บางแพ จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตนลงกุ้งกุลาดำมาได้ประมาณ
2 เดือนแล้ว ทุกครั้งที่ลงกุ้งจะมีความกังวลอยู่เรื่องเดียว
ก็คือ กลัวขาดทุน ตอนนี้ก็คิดเพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้เลี้ยงกุ้งออกมาได้ดีที่สุด
ส่วนในเรื่องปัญหาเอดี ถ้าถามว่ามีความกังวลไหม คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของทั้งประเทศ
ในฐานะที่เป็นเกษตรกรก็คงจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ หน้าที่ของเราก็คือ ต้องเลี้ยงกุ้งออกมาให้ดีที่สุด
และทำต้นทุนให้ต่ำที่สุด
"ผมคิดว่าเรื่องราคาไม่น่ากังวล เพราะผู้เลี้ยงกำหนดราคาเองไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ก็ต้องก้มหน้ายอมรับราคาจากห้องเย็นที่เขากำหนดออกมา หน้าที่ของเกษตรกร ก็คือ
ต้องเลี้ยงกุ้งออกมาให้ดีที่สุดเท่านั้น"
เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ กุ้งไทย
นำเสนอขึ้นสู่เวบไซต์ โดย www.shrimpcenter.com
เอกอนันต์ ยุวเบญจพล webmaster