ปรับอุตสาหกรรมกุ้งเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์
ภายในงานสัมมนา "การนำเสนอผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนสู่เชิงพาณิชย์"
ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา
ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ การอภิปราย การเสวนา และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานความสำเร็จของต้นแบบเครือข่ายและผลผลิต
ทั้ง 4 เครือข่าย ได้แก่ กุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง น้ำลูกยอ และสิ่งประดิษฐ์ โดยในส่วนของเครือข่ายกุ้ง
ได้มีการเสวนาเรื่อง "การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในยุคโลกาภิวัตน์"
ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.ชลอ ลิ้มสุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังกันอย่างเนืองแน่น
และมีการซักถาม ระดมสมองเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วยกันอีกด้วย
การรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์มีผลดีอย่างไรกับผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย
นายภิญโญ เกียรติภิญโญ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าจีน จำกัด กล่าวว่า
แนวคิดของการจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าจีนนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต
โดยเน้นแก้ปัญหาใน 2 เรื่องหลักคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยในชุมชนขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ
และประสบปัญหาเรื่องการตลาด
แรกเริ่มของการจัดตั้งสหกรณ์ฯ อ.ภิญโญ กล่าวว่าได้มีการรวมกลุ่มเรียกเกษตรกรรายย่อยมาประชุม
และได้เชิญเจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมฟังการดำเนินงานจัดตั้งสหกรณ์
ซึ่งการจัดตั้งสหกรณ์ได้รับความร่วมมือจากประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว นำสมาชิกในสหกรณ์ที่เลี้ยงกุ้งของตน
แยกตัวออกมาเพื่อจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ และได้ดำเนินงานตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด ทำให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าจีนเกิดขึ้นมาได้
เบื้องต้นสหกรณ์ฯ ได้รับเงินลงทุนครั้งแรกจากเอสเอ็มอีแบงก์ โดยสหกรณ์ฯ ได้นำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทแพ็คฟู้ด
มูลค่าทั้งหมด 50 ล้านบาท มาแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ก็ได้อนุมัติเงินให้เป็นจำนวน
25 ล้านบาท
สรุปได้ว่าการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์จะมีผลดีกับเกษตรกรรายย่อยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรวมกลุ่มทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
ทำให้มีแหล่งเงินทุนหรือสถาบันการเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน
และยังเป็นการสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าให้กับผู้ซื้อได้ เนื่องจากมีระบบการเก็บข้อมูลที่ทันสมัย
สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
หลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย
นายเมธา เชียรศิลป์ กองธุรกิจสินเชื่อปศุสัตว์และประมง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดกับลูกหนี้ที่ไม่สามารถมาชำระหนี้คืนได้พบว่า
จากเดิมที่ ธ.ก.ส. เคยปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรไปนั้น เกษตรกรนำเงินไปและไปหาวิธีการผลิตเอง
หาตลาดเอง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงทั้งเรื่องการผลิต การตลาด
และสามารถชำระหนี้คืนให้กับธนาคารได้ ธ.ก.ส. จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์
เพราะการจัดตั้งสหกรณ์จะได้รับความร่วมมือได้ง่ายกับหน่วยงานต่างๆ และมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง และเกษตรกรหลายท่านที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันดูแล
ทั้งเรื่องเทคนิคการผลิตที่ปลอดภัย สามารถลดต้นทุน และมีตลาดรับซื้อที่แน่นอนได้
สำหรับหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย นายเมธากล่าวว่า เกษตรกรที่ต้องการให้
ธ.ก.ส. ช่วยจะต้องทำตามข้อกำหนด 5 ข้อหลักดังนี้
1.เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นองค์กร ซึ่งองค์กรดังกล่าวต้องมีความเข้มแข็ง
เช่น สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว หรือสหกรณ์ชาวไร่อ้อย เป็นต้น ห้ามให้เงินกู้กันเองกับสมาชิก
การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรต้องมีการหาโรงงานรองรับเมื่อได้ผลผลิตจำนวนมาก และอาจมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
เพื่อทราบราคาที่แน่นอน
2.ในระบบการจัดการผลิต เกษตรกรที่เคยมีระบบการเลี้ยงแบบเก่า ต้องปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบที่
ธ.ก.ส. กำหนด โดยเกษตรกรจะได้รับการศึกษา อบรม เพื่อรับฟังความรู้ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
3.ฟาร์มของเกษตรกรต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะของประมงจังหวัด
อย่างน้อยต้องได้มาตรฐาน GAP
4.เกษตรกรรายใหม่ที่ต้องการจะกู้เงินกับ ธ.ก.ส. ต้องมีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงกุ้งมาก่อน
5.ผู้ที่สามารถทำตามข้อกำหนดและผ่านทั้ง 4 ข้อได้ ทาง ธ.ก.ส. จะให้เกษตรกรแต่ละรายเลี้ยงกุ้งครั้งแรกเพียงจำนวน
1 บ่อ ขนาด 4 ไร่ และเลี้ยงให้ได้ประมาณ 50 ตัว/กก.
ระยะเวลา 4 เดือน เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ที่เกษตรกรได้รับ
การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า
ในการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ค่อนข้างประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
เนื่องจากจะมีการศึกษาลักษณะการเลี้ยงและรู้จักกันมานาน สามารถผลิตสินค้าได้ตามที่ลูกค้าต้องการ
อีกทั้งยังมีสถาบันการเงินให้ทุนสนับสนุนการเลี้ยงอีกด้วย
โดยทางบริษัทฯ (ผู้ส่งออก) จะตั้งกติกาและเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร
ซึ่งหากมีการตกลงกันได้ก็จะรับซื้อสินค้าทันทีด้วยราคาล่วงหน้าที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ เกษตรกรต้องเลี้ยงกุ้งให้ได้คุณภาพดี ไม่มีสารตกค้าง สินค้าสดจนถึงโรงงาน
และกุ้งที่ได้ต้องเป็นขนาดที่ตกลงกัน ซึ่งการตรวจคุณภาพของกุ้งก่อนที่จะรับซื้อ
ทางบริษัทฯ จะน้ำผู้ซื้อจากต่างประเทศมาทดสอบคุณภาพถึงปากบ่อ
อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ต้องการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าควรเป็นสหกรณ์ เนื่องจากบริษัทฯ
ต้องการสินค้าส่งอออกจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดปัญหาสมาชิกรายใดรายหนึ่งไม่สามารถผลิตสินค้าได้ครบตามที่กำหนด
อาจให้สมาชิกรายอื่นส่งมอบสินค้าแทนได้
เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ กุ้งไทยเล่ม 72
นำเสนอขึ้นสู่เวบไซต์ โดย www.shrimpcenter.com
เอกอนันต์ ยุวเบญจพล
webmaster
สนับสนุนโดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด