จีเอสพีเจอเลื่อน
รอลุ้นปีใหม่ต่อ
จีเอสพีส่อเค้ายืด อียูเสียงแตกอ้างเรื่องสิ่งทออีก ทำพี่ไทยติดร่างแห ขณะที่นายกทักษิณ
บ่นอุบ"ไม่แฟร์" สั่งพาณิชย์เคลียร์ปัญหาด่วน ประกาศกร้าวหากไม่ให้สิทธิ์ไทยคืน
ระดมพลคนทั้งประเทศงดซื้อของยุโรป ด้านรมว.พาณิชย์ แย้มถึงแห้วจีเอสพี แต่อาจได้โควต้ากุ้งพิเศษปลอบใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า นายการุณ กิติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์
เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีภาษีจีเอสพีที่จะคืนให้แก่กุ้งไทย เมื่อวันที่ 18
มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้รับแจ้งจากทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า
ในการประชุมคณะผู้แทนถาวรของสหภาพยุโรป (coneper) จะเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ระเบียบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป
(จีเอสพี) สำหรับโครงการใหม่ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 49 ซึ่งจะทำให้มีความล่าช้าออกไปอีก
6 เดือน จากเดิมที่ประกาศว่า จะให้สิทธิโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 48 เป็นต้นไป
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คณะผู้แทนถาวรของอียู ไม่สามารถตกลงในการออกระเบียบโครงการจีเอสพีใหม่ได้
เป็นเพราะความขัดแย้งภายในของสมาชิกอียู ที่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิจีเอสพีสิ่งทอซึ่งแตกความเห็นเป็น
2 กลุ่ม ทำให้ไทยติดร่างแหนี้ไปด้วย อย่างไรก็ตามไทยคงไม่ตอบโต้อียู เนื่องจากการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว
แต่ไทยอาจต้องมีข้อเสนออื่นๆ ไปเจรจาต่อรองว่า ไทยกับอียูไม่ได้มีการค้าต่อกันเฉพาะกุ้ง
หรือเครื่องบินแอร์บัสเท่านั้น
"ผมเสียใจและผิดหวังมาก เพราะเดิมอียูจะประกาศให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1
ก.ค. 48 ทำให้สินค้าไทยกลุ่มประมง ที่สำคัญคือกุ้ง อาหารปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
รองเท้าและชิ้นส่วนแก้วและเซรามิก ต้องเสียประโยชน์ไปอีกครึ่งปี ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการส่งออก"
นายการุณ กล่าว
ทักษิณ บอกไม่แฟร์
ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวอย่างอารมณ์เสียว่า
การที่อียูทำเช่นนี้ไม่แฟร์และไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้
พอเกิดเหตุสึนามิ ทางกลุ่มประเทศอียูก็บอกว่า จะช่วยเหลือแต่สุดท้ายออกมาอย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนแล้ว
ด้านนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนของการประชุมคณะทำงานในระดับทูตพาณิชย์ของอียู
ก่อนเสนอให้คณะมนตรีอียูพิจารณาแบ่งกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพีออกเป็น 2
กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่าไทย จะได้คืนสิทธิในวันที่
1 ก.ค. 48 และหากไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้จะทำให้ไทย สามารถส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า
20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วงก่อนที่ไทยจะถูกตัดจีเอสพีนี้ ไทยเคยส่งออกกุ้งไปอียูได้ปีละกว่า
40,000 ล้านบาท แต่หลังถูกตัด มูลค่าส่งออกไปอียูเหลือเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น
"คงต้องรอผลการประชุมคณะมนตรีอียูก่อน หากผลออกมาว่าเป็นวันที่ 1 ม.ค.
49 เราคงเรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะการให้จีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว ผมในฐานะ
รมว.พาณิชย์คงต้องหาวิธีช่วยเหลือชาวนากุ้งต่อไปและหาตลาดอื่นทดแทน คงไม่ตอบโต้อียู
แต่ทราบว่าอียูไม่ได้เอาผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิมาพิจารณาคืนจีเอสพีให้กับไทย
อย่างที่ได้รับปากไว้ ตนจึงโทรศัพท์ไปขอให้อียูทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้"
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า
กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) เลื่อนการพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี)
กุ้งไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่น 6 เดือนว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี
ได้ไปเจรจาประเทศต่างๆ ในกลุ่มอียูแล้ว และตนจะพูดกับทางอียูให้รู้ว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นธรรม
เพราะการที่อียูอ้างว่าประเทศไทยมีระดับการพัฒนาที่สูงกว่าประเทศอื่น แต่ขณะเดียวกันประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูงเท่าๆ
กับเราไม่โดนตัดจีเอสพี ซึ่งไม่ถูกต้อง "เขาเอาไปผูกกับสินค้าสิ่งทอของอินเดียกับจีน
ความจริงแล้วเราแค่ต้องการขอคืนความเป็นธรรมให้เราเท่านั้น"
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า หากอียูไม่คืนสิทธิจีเอสพี ตนคิดว่าจะต้องมีการตอบโต้อย่างแน่นอน
เพราะเราถือว่าอย่างนี้ไม่แฟร์ และไม่ได้ต้องการขออภิสิทธิ์พิเศษที่เหนือกว่าคนอื่น
แต่คิดว่าถ้าให้คนอื่นแล้วไม่ให้เราเท่ากับเป็นการลงโทษ ในมุมมองเขาอาจจะมองว่านี่คือจีเอสพี
เขามีสิทธิ์จะให้หรือไม่ให้ใครก็ได้ แต่การให้ที่ต่างกันเท่ากับเป็นการลงโทษของผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์
ตอนนี้เรายังไม่ได้พูดอะไรไปตรงๆ แต่ถึงเวลานี้คงต้องทำอะไรสักอย่าง
"ถ้าเขาไม่แฟร์กับเราก็ช่วยไม่ได้ คนเราถ้าจะคบกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต้องแฟร์
เราไม่ได้ขออะไรพิเศษเลย จะให้อะไรเราก็ไม่เอา แต่ขอแฟร์ๆ เท่านั้น ซึ่งหากการเจรจาระหว่างไทยกับอียูไม่ได้ผล
ไทยก็เตรียมมาตรการตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน อาจหยุดซื้อเบนซ์ หรือรถยนต์สักพัก"
ตัดสินแล้วรอปีใหม่
ล่าสุดมีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ย่านสนามบินน้ำว่า นายราเชนทร์ พจสุนทร
อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะมนตรีสหภาพยุโรป
ได้พิจารณาการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลากร (จีเอสพี) ให้กับไทย โดยประกาศคืนจีเอสพีให้กับไทย
ในวันที่ 1 ม.ค. ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ อียูประกาศจะให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยสึนามิด้วยการคืนจีเอสพีให้วันที่
1 เม.ย. 48 แต่อียูไม่ดำเนินการและยังเลื่อนการให้จีเอสพีไทยออกเป็นวันที่
1 ม.ค. 49 ส่งผลให้สินค้ากุ้งไทยยังต้องเสียภาษีการนำเข้าสูงถึง 12% คาดว่าทำให้การส่งออกกุ้งไทยลดลงแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ ได้พูดคุยกับนายปีเตอร์
แมนเดลสัน ประธานกรรมาธิการการค้าอียู ทางโทรศัทพ์ทำให้ทราบว่า อียูยืนยันที่มาจะหามาตรการพิเศษให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยสึนามิ
เช่น อาจจะเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้ากุ้งให้เป็นพิเศษ โดยคาดว่าจะประกาศได้ก่อนสิ้นปีนี้
ด้านนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า นายทนงได้ประสานงานกับประเทศลักเซมเบิร์ก
ฝรั่งเศส และสเปน ให้โน้มน้าวอียูคืนจีเอสพีเร็วขึ้น คาดว่าจะได้ในเดือน ต.ค.นี้
ประธานอียูอ้างสิ่งทอ
ขณะเดียวกันมีรายงานเข้ามาว่า นายปีเตอร์ แมนเดอร์สัน ประธานกรรมาธิการการค้าอียู
กล่าวว่า มติดังกล่าว เป็นข้อตกลงร่วมของตัวแทนสมาชิก ซึ่งยังเห็นว่าบางประเทศยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน
โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอจากจีนที่ยังมีปัญหาบางประการ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า
การลงมติดังกล่าว เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญของสหภาพยุโรปในการพัฒนาด้านการค้า
ทำให้ตอนนี้ต้องมีการเลื่อนการให้สิทธิพิเศษทางการค้าของประเทศที่ต้องการออกไปจนถึง
1 ม.ค.2549 แต่อย่างไรก็ดีก็อาจมีการหามาตรการพิเศษในการช่วยเหลือกรณีที่ประเทศในเอเซีย
อย่างไทยและอินเดีย ซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วอีกครั้ง
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กุ้งไทย ฉบับที่ 47
นำเสนอขึ้นสู่เวบไซต์ โดย www.shrimpcenter.com
เอกอนันต์ ยุวเบญจพล
webmaster
สนับสนุนโดย บริษัทไทยยูเนี่ยน
ฟีดมิลล์ จำกัด